การบริหารจัดการน้ำ

การบริหารจัดการน้ำ

การบริหารจัดการน้ำ

การบริหารจัดการน้ำของเขื่อนขุนด่านปราการชล แบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ ฤดูฝน และฤดูแล้ง 

1 การบริหารจัดการน้ำฤดูฝน

1.1 การบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร

พื้นที่การเกษตรในช่วงฤดูฝน ใช้น้ำจากปริมาณน้ำฝนที่ตก ลุ่มน้ำสาขา และอ่างเก็บน้ำในพื้นที่เป็นหลัก เว้นแต่กรณีปริมาณฝนเฉลี่ยมีค่าต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ หรือฝนทิ้งช่วง จำเป็นต้องได้รับการจัดสรรน้ำจากเขื่อนขุนด่านปราการชลเพื่อการเกษตร ซึ่งในฤดูฝนนี้จะเขื่อนขุนด่านปราการชลจะเน้นการเก็บกักน้ำในมากที่สุดเพื่อสำรองไว้ใช้ในฤดูแล้ง

1.2 การบริหารจัดการน้ำเพื่อป้องกันภัยจากน้ำ

“แม่น้ำนครนายก” มีจุดกำเนิดบนยอดเขาสูง 1,000 ถึง 1,300 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลางทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ก่อกำเนิดเป็นธารน้ำสายเล็กๆไหลรินลงมาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ผ่านหุบเขา ลัดเลาะตาแนวป่าไม้ แล้วแยกออกเป็นลำน้ำสาขาย่อย อันได้แก่ คลองท่าด่าน  คลองนางรอง คลองวังตะไคร้ คลองมะเดื่อ คลองสำพุงแห้ง คลองสาลิกา คลองบ่อ คลองขุน คลองสีเสียด คลองห้วยทราย และคลองขุนแก้ว ซึ่งลุ่มน้ำนครนายกลักษณะภูมิประเทศผสมผสานระหว่างหุบเขาแคบและพื้นที่สูงชัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นป่าไม้ถัดลงมาเป็นที่ราบที่มีพื้นที่ลาดเทแล้วจึงค่อยผายออกเป็นที่ราบกว้างใหญ่ ด้วยลักษณะเช่นนี้ เมื่อมีฝนตกจึงเกิดน้ำไหลบ่าอย่างรุนแรงลงมาท่วมพื้นที่ทางด้านล่าง เกิดอุทกภัยในพื้นที่ โดยมีปัจจัยอื่นร่วมด้วยทั้งจากสภาพอากาศ และปัจจัยลุ่มน้ำอื่นๆ เช่น ปริมาณน้ำจากลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปราจีนบุรีและบางปะกง รวมทั้งอิทธิพล การขึ้นลงของน้ำทะเลผ่านทางแม่น้ำบางปะกง 

ซึ่งพื้นที่ด้านท้ายน้ำเขื่อนขุนด่านปราการชล มีลำน้ำสาขา ได้แก่ คลองนางรอง คลองวังตะไคร้ คลองมะเดื่อ คลองลำพุงแห้ง คลองสาลิกา คลองบ่อ คลองขนุน คลองสีเสียด คลองห้วยทราย และคลองขุนแก้ว  จะมีปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤตเดือน สิงหาคม - กันยายน มีปริมาณฝนสะสมเกินค่าเฉลี่ยสะสมค่อนข้างมาก ทำให้ปริมาณน้ำท่าที่ไหลลงด้านท้ายเขื่อนมีปริมาณมาก การบริหารจัดการน้ำที่ผ่านมาของเขื่อนขุนด่านปราการชลมีปัญหาส่วนมากจะเป็นปัญหาภัยจากน้ำ ต่อด้วยเหตุการณ์ภัยจากน้ำที่เกิดขึ้นในปี 2561 มีสาเหตุจากพายุโซนร้อน เซินติญ และ เบบินคา ทำให้เกิดฝนตกหนักในพื้นที่เกินค่าเฉลี่ยอย่างมาก และก่อให้เกิดวิกฤติถึง 3 ครั้ง ในตอนนั้นทางโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาขุนด่านปราการชลมีสถานีโทรมาตรเพียง 2 สถานี คือ NY.1B และ NY.7 เป็นอุปกรณ์ในการช่วยบริหารจัดการน้ำ แต่ก็สามารถบริหารจัดการน้ำลุล่วงไปด้วยดีไม่เกิดปัญหาน้ำท่วมในตัวเมืองนครนายก
รูป สภาวะภัยจากน้ำ ปี พ.ศ. 2561

จากเหตุการณ์ภัยจากน้ำที่ผ่านมาได้ถอดบทเรียนของการบริหารจัดการน้ำที่เกิดขึ้น ดังนี้

1.ปัญหาเรื่องข้อมูลปริมาณฝนและน้ำท่า
เนื่องจากในอดีตเวลาที่ฝนตกหรือมีพายุ จะมีเจ้าหน้าที่รัฐในการวัดปริมาณน้ำฝน และออกไปดูระดับน้ำท่าในแต่ละจุดสำคัญต่างๆ จึงทำให้ข้อมูลนั่นขาดความแม่นยำ เนื่องจากอุปสรรคทางด้านธรรมชาติ และการใช้เครื่องมือ
2. ความรวดเร็วในการรับ-ส่งข้อมูล
การการรายงานข้อมูลสถานการณ์น้ำไม่ทันท่วงที ไม่สามารถติดตามและบริหารสถานการณ์น้ำได้อย่างต่อเนื่อง การรับส่งข้อมูลล่าช้า รวมถึงมีบุคลากรในการปฏิบัติงานไม่เพียงพอ หากมีพายุฝนตกกระจายหลายพื้นที่ 
3. การวิเคราะห์และประมวลผลข้อมูล
เนื่องจากการรับส่งข้อมูลทำได้ช้า จึงส่งผลต่อการที่ผู้บริหารของเขื่อนจะนำมาวิเคราะห์และและประมวลผลข้อมูล นอกจากนี้ยังไม่มีเทคโนโลยีที่ช่วยในการประมวลข้อมูลระดับน้ำท่าในลุ่มน้ำสาขาอีกด้วย
4. การแจ้งเตือนภัย
จากการรายมูลที่ไม่ทันท่วงทีและการประมวลข้อมูลทำได้ค่อนข้างช้า จึงทำให้การแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการและการแจ้งเตือนประชาชนเกิดความล่าช้า ก่อให้เกิดความเสียหายต่อบ้านเรือนประชาชน พื้นที่เกษตรกรรม รวมถึงภาคการท่องเที่ยว
5. ขาดการทำงานแบบบูรณาการ
จากในอดีตจะเห็นว่าหน่วยราชการงานต่างๆในจังหวัดนครนายก ยังขาดการทำงานแบบบูรณาการที่จะส่งต่อข้อมูลให้แก่กันเพื่อวิเคราะห์ประมวลผลได้อย่างรวดเร็วตลอด 24 ชั่วโมง 
6. ความเชื่อมั่นในความมั่นคงของตัวเขื่อน
เนื่องจากราษฎรไม่ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องจากสื่อต่างๆ ที่ไม่ใช่จากหน่วยงานราชการโดยตรง ทำให้เกิดความตระหนกใจ และมั่นใจในตัวเขื่อน
ซึ่งในปัจจุบันโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาขุนด่านปราการชลได้มีแนวทางการแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการน้ำเขื่อนขุนด่านปราการชล ดังนี้

1. การติดตั้งสถานีโทรมาตร ซึ่งระบบโทรมาตร

คือ ระบบตรวจวัดปริมาณน้ำท่า ระดับน้ำท่า ส่งข้อมูลระยะไกลยังสามารถมีการแจ้งเตือนหากระดับน้ำจะเข้าสู่ระดับวิกฤต โดยข้อมูลจากระบบโทรมาตรนั่นเป็นแบบเรียลไทม์ด้วยการใช้ระบบ SCADA เข้าสู่ระบบในอาคารควบคุมการบริหารจัดการน้ำ ณ เขื่อนขุนด่านปราการชล จากเดิมที่มีสถานีโทรมาตรอยู่ไม่เพียงพอ ทางโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาขุนด่านปราการชลได้ติดตั้งสถานีเพิ่ม ในปัจจุบันได้ดำเนินการติดตั้งสถานีระบบโทรมาตรในลำนำธรรมชาติ จำนวน 17 สถานี และระบบโทรมาตรในคลองส่งน้ำ จำนวน 7 สถานี
ตำแหน่งติดตั้งสถานีโทรมาตร

2. อาคารควบคุมและบริหารจัดการน้ำ โดยใช้ ระบบ SCADA

ซึ่งสามารถรับข้อมูลจากสถานีโทรมาตรต่างๆ ที่กระจายอยู่ทั่วลุ่มน้ำแม่นครนายก , สถานีวัดน้ำฝนบนเขาใหญ่ และการติดตามเครื่องมือวัดพฤติกรรมเขื่อน จะเข้าสู่ระบบในอาคารควบคุมการบริหารจัดการน้ำ ณ เขื่อนขุนด่านปราการชล ที่สามารถแสดงข้อมูลผ่านหน้าจอมอนิเตอร์ภายในห้องที่มีเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังและวิเคราะห์ประมวลข้อมูลน้ำตลอด 24 ชั่วโมงในช่วงฤดูฝนหรือช่วงที่มีพายุ โดยระบบโทรมาตร และ ระบบ SCADA ทำให้การบริหารจัดการน้ำของเขื่อนขุนด่านปราการชลมีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถมีข้อมูลนำไปวิเคราะห์การปรับลดหรือการเพิ่มการระบายน้ำได้อย่างแม่นยำโดยไม่ส่งผลกระทบต่อราษฎรและน้ำที่จะเก็บกักไว้ใช้ในฤดูแล้ง ทั้งยังช่วยแจ้งเตือนหน่วยงานภาครัฐอื่นๆหากระดับน้ำเกิดการวิกฤตอีกด้วย และสามารถใช้ระบบสั่งการปิด-เปิดอาคารระบายน้ำของเขื่อนทั้งระบบ Bottom Outlet, River Outlet, Spillways, Irrigation Outlet จึงทำให้ในการป้องกันและบรรเทาภัยอันเกิดจากน้ำทำได้รวดเร็วมากขึ้น

จอมอนิเตอร์ติดตามสถานการณ์แบบเรียลไทม์ผ่านกล้อง CCTV


ภาพแสดงหน้าตัดคลองธรรมชาติและข้อมูลระดับน้ำจากสถานีโทรมาตร

3.ระบบแจ้งเตือนภัยและการประชาสัมพันธ์

มีแจ้งเตือนภัยโดยใช้ Website : http://khundan-tele.rid.go.th ที่มีการแสดงข้อมูลจากระบบโทรมาตรและปริมาณน้ำในเขื่อนที่ราษฎรสามารถเข้ามาดูสถานการณ์น้ำได้แบบเรียลไทม์ รวมถึงได้ทำแผนที่แสดงพื้นที่เฝ้าระวังการบริหารจัดการน้ำแม่น้ำนครนายก ในกรณีที่ระดับสูงและอัตราการไกลของน้ำแตกต่างกัน และมีการแจ้งเตือนภัยโดยใช้ Application : LINE ชื่อ รายงานสาธารณภัย นย. ซึ่งประกอบไปด้วยหน่วยงานราชการ ภาคเอกชน และภาคประชาชน


รูป Website : http://khundan-tele.rid.go.th


แผนที่แสดงพื้นที่เฝ้าระวังการบริหารจัดการน้ำแม่น้ำนครนายก


Application : LINE

4. การซ่อมแซมและพัฒนาเครื่องมือวัดพฤติกรรมเขื่อน (Dam instrument)

โครงการได้มีการเปลี่ยนอุปกรณ์การวัดพฤติกรรมเขื่อนจากระบบ Manual มาเป็นระบบอัตโนมัติ ที่สามารถวัดพฤติกรรมเขื่อนและส่งข้อมูลเข้าสู่ระบบฐานข้อมูลของเขื่อนขุนด่านปราการชลได้โดยอัตโนมัติตลอดเวลาตามเกณฑ์การวัดจากผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งทำให้ข้อมูลที่ได้มีความแม่นยำน่าเชื่อถือมากขึ้น ช่วยในการบำรุงรักษาเขื่อนขุนด่านปราการชลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และคลายความกังวลของราษฎร 

จำนวนเครื่องมือวัดพฤติกรรมเขื่อน

5. การทำงานแบบบูรณาการ

มีการประชุมหน่วยงานราชการต่างๆในจังหวัดนครนายกให้มีส่วนร่วมและแสดงความคิดเห็นร่วมกันในการบริหารจัดการน้ำ มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ประสบการณ์ในการทำงาน และในช่วงฤดูฝนและช่วงมีพายุจะทำงานร่วมกันตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังมีการส่งข้อมูลสถานการณ์น้ำประจำวันและแจ้งเตือนภัย โดยทางโครงการจะส่งข้อมูลให้แก่สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครนายก


2 การบริหารน้ำในฤดูแล้ง

การบริหารจัดการน้ำในฤดูแล้ง เป็นการจัดสรรน้ำตามแผนการจัดสรรน้ำของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาขุนด่านปราการชลเพื่อประโยชน์ดังนี้

2.1 การบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรกร ส่งน้ำให้กับพื้นที่ชลประทาน 73,779 ไร่         

แยกเป็น 
1. โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานครนายก 14,930 ไร่
2. โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาขุนด่านปราการชล 54,349 ไร่
3. โครงการชลประทานนครนายก 4,500 ไร่

แผนที่พื้นที่ชลประทาน

2.2 การบริหารจัดการเพื่อการรักษาระบบนิเวศ

1) การผลักดันน้ำเค็ม
การแก้ไขปัญหาน้ำเค็มลุกล้ำพื้นที่ เนื่องจากน้ำทะเลหนุนสูงในลุ่มน้ำปราจีน-บางปะกง จะมีการวางแผนการผลักดันน้ำเค็มทุกปี โดยใช้น้ำจากอ่างเก็บขนาดใหญ่จำนวน 6 เขื่อน ได้แก่ อ่างเก็บน้ำสียัด อ่างเก็บน้ำระบม อ่างเก็บน้ำขุนด่านปราการชล อ่างเก็บน้ำพระสทึง อ่างเก็บน้ำพระปรง และอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา โดยจะทำการระบายน้ำในช่วงประมาณปลายเดือนธันวาคมถึงต้นเดือนมกราคม ของทุกปี ซึ่งปริมาณน้ำที่ใช้ผลักดันน้ำเค็มของเขื่อนขุนด่านปราการชลประมาณ 30-35 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี

การติดตามและควบคุมค่าความเค็มในลุ่มน้ำนครนายก


รูป แผนการระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำ      

รูป รายงานค่าความเค็มรายวัน

2) การแก้ไขปัญหาน้ำเสียทุ่งบางหอย        

 พื้นที่ทุ่งบางหอย ตำบลบางหอย อำเภอศรีจุฬา จังหวัดนครนายก เป็นพื้นที่จำนวน 40,000 ไร่ มีการปลูกข้าวฟางลอย ซึ่งเป็นข้าวพันธุ์เหลืองปะทิว กข.47 และ กข.51 เกษตรกรจะมีการระบายน้ำเพื่อเก็บเกี่ยวข้าวเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดน้ำเน่าเสียตามมา ซึ่งเขื่อนขุนด่านปราการชลจะปล่อยน้ำเพื่อแก้ปัญหาน้ำเน่าเสียและเพิ่มออกซิเจนในน้ำเป็นประจำทุกปี ปีละประมาณ 5-10 ล้านลูกบาศก์เมตร นอกจากนี้ยังมีการพ่นน้ำหมักชีวภาพ พด.6 เพื่อปรับสภาพน้ำก่อนการระบาย บริเวณประตูระบายน้ำไม้เหลี่ยมและในคลอง ตำบลท่าเรือ อำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก โดยร่วมมือกับสำนักพัฒนาพัฒนาที่ดิน
รูปที่  แผนที่แสดงพื้นที่ปลูกข้าวฟางลอย

            2.3 เพื่อการอุปโภคบริโภค

  • ประปา-หมู่บ้านหินตั้ง
  • ประปา-หมู่บ้านท่าชัย
  • ประปา-หมู่บ้านท่าชัย
  • ประปา-บ้านหมู่ 

                             

รูป การบริหารจัดการน้ำช่วงฤดูแล้ง


4. ประโยชน์ที่ได้จากการระบายน้ำของเขื่อนขุนด่านปราการชล

4.1 การผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานน้ำ

 การผลิตไฟฟ้าถือเป็นผลพลอยได้จากปริมาณน้ำที่ระบายผ่านอาคารระบายท้ายเขื่อนเพื่อการชลประทาน  ซึ่งมีโรงไฟฟ้าพลังน้ำกำลังผลิต 10 MW  จำนวน 1 เครื่อง ปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้เฉลี่ย ต่อปีเท่ากับ 27.99 ล้านหน่วย คิดเป็นมูลค่า 80.35 ล้านบาท


โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนขุนด่านปราการชล

4.2 การท่องเที่ยว

การปล่อยน้ำของเขื่อนขุนด่านปราการชลนั้น ส่งผลทำให้ภาคธุรกิจการท่องเที่ยวของจังหวัดนครนายกมีรายได้ต่อปีเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีน้ำสนับสนุนกิจกรรมการท่องเที่ยว เช่น การล่องแก่ง เรือแคนู ได้ตลอดปี ซึ่งผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดนครนายก (GPP) ปี 2547-2562 เปรียบเทียบในระยะเวลา 16 ปีย้อนหลัง จะเห็นว่ามีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ ปี 2547-2562จากมูลค่า 12,637 ล้านบาท ในปี 2547  เป็น 30,435 ล้านบาท ในปี 2562 ซึ่งจะเห็นได้ว่าหลังจากที่ก่อสร้างเขื่อนขุนด่านปราการชลเสร็จแล้วนั้น ก่อให้เกิดรายได้และกระตุ้นเศรษฐกิจของจังหวัดนครนายกอย่างต่อเนื่อง

รูปที่ 23 กราฟผลิตภัณฑ์มวลรวม จังหวัดนครนายก (GPP) ปี พ.ศ. 2547-2562       
ที่มา : https://www.nesdc.go.th ; สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์)

                                                                 
รูป กิจกรรมท่องเที่ยวทางน้ำ จังหวัดนครนายก

5 ผลประโยชน์ที่ได้รับจากการใช้น้ำจากเขื่อนขุนด่านปราการชล

5.1 รายได้จากการเกษตร

ลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำนครนายกมีพื้นที่ประมาณ 1,199,112 ไร่ การใช้ประโยชน์ที่ดินหลักเป็นพื้นที่เกษตรกรรม 554,959 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 46.26 ของพื้นที่ลุ่มน้ำ เมื่อพิจารณาการใช้ประโยชน์ที่ดินทางการเกษตรพบว่าส่วนใหญ่คือพื้นที่นาข้าว 381,947 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 68.82 ของพื้นที่เกษตรกรรมทั้งหมด โดยแบ่งเป็นนาข้าวที่สามารถปลูกได้ปีละ 2 ครั้ง ร้อยละ 44.58 และพื้นที่นาข้าวที่ลุ่มต่ำที่ต้องปลูกข้าวแบบข้าวขึ้นน้ำที่ปลูกข้าวได้ปีละ 1 ครั้ง ร้อยละ 24.24 รองลงมาได้แก่ การปลูกไม้ผลและไม้ยืนต้นต่างๆ ซึ่งพื้นที่เกษตรกรรมที่ใช้ประโยชน์จากน้ำชลประทานจากโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาขุนด่านปราการชล โครงการชลประทานนครนายก และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานครนายก มีจำนวนทั้งหมด 77,129 ไร่ นอกจากนี้ยังมีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เกษตรกรที่ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ส่วนใหญ่เลี้ยงปลา พันธุ์ที่นิยม ได้แก่ ปลาน้ำจืด ปลายี่สก ปลานิล ปลาตะเพียน และปลาดุกบิ๊กอุย ซึ่งการทำกระชังปลาที่ได้รับประโยชน์จาก
โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาขุนด่านปราการชล มีจำนวน 492 กระชัง ซึ่งน้ำหนักต่อหนึ่งกระชังจะอยู่ที่ปะมาณ 1800 กิโลกรัม และราคาที่เกษตรกรขายได้คือ 78 บาทต่อกิโลกรัม โดยที่เกษตรกรสามารถขายได้ 2 ครั้งต่อปี

รูป สถิติการใช้น้ำเพื่อการเกษตรของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาขุนด่านปราการชล
ที่มา : คบ.ขุนด่านปราการชล,คบ.นครนายก,คป.นครนายก

5.2 รายได้จากการเรียกเก็บค่าน้ำชลประทาน

นอกจากนี้ยังมีรายได้จากการเรียกเก็บเงินค่าน้ำชลประทานจาก การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยและการประปาส่วนภูมิภาค
รูป ข้อมูลรายได้จากการเรียกเก็บเงินค่าน้ำชลประทาน ที่มา : กฟผ.และกปภ.

5.3 รายได้จากการท่องเที่ยว โรงแรม และที่พัก

สำหรับภาคการท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดนครนายก หลังจากก่อสร้างเขื่อนขุนด่านปราการชลนั้น เกิดการสร้างงานให้ราษฎรจากการประกอบธุรกิจโรงแรม รีสอร์ท โฮมสเตย์ ร้านค้า กิจกรรมการท่องเที่ยวทางน้ำ ฯลฯ เป็นจำนวนมาก เนื่องจากมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นในทุกปี ทำให้ราษฎรในพื้นที่เกิดรายได้มากขึ้น
รูปรายได้จากการท่องเที่ยวของจังหวัดนครนายก ที่มา : สนง.ท่องเที่ยวจังหวัดนครนายก

ผลประโยชน์ที่ได้รับจากเขื่อนขุนด่านปราการชล ในภาคเกษตรคิดเป็นมูลค่าต่อลูกบาศก์เมตร 
จะคิดได้เป็นน้ำ 1 ลูกบาศก์เมตร มีมูลค่า 11 บาท


ซึ่งจะเห็นว่าเมื่อคำนวณตั้งแต่เริ่มสร้างจนถึงปัจจุบันเทียบกับค่าก่อสร้างแล้วนั่นถือว่าคุ้มค่ามาก  ทั้งหมดนี้เป็นเพราะพระอัจฉริยะภาพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร



    

           


 ดาวน์โหลด เอกสารแนบ
แชร์ :