พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครนายก พระบรมชนกชลพัฒน์

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครนายก พระบรมชนกชลพัฒน์
x


“ เนื้อหาการจัดแสดงนิทรรศการถาวรในพิพิธภัณฑ์เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับโครงการพระราชดำริเขื่อนขุนด่านปราการชล ข้อมูลทางภูมิศาสตร์ ธรณีวิทยา ปฐพีวิทยา รวมถึงพืช และน้ำ อันเป็นลักษณะโดยทั่วไปของจังหวัดนครนายกตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ตลอดจนข้อมูลด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี และตำนานเมืองนครนายก เพื่อเป็นศูนย์ข้อมูลและแหล่งเรียนรู้ด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของจังหวัดนครนายก รวมทั้งเป็นการปลูกจิตสำนึกรักบ้านเกิดและสร้างความภาคภูมิใจในมรดกทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นอีกด้วย ”

 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ หลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเพียง ๕ ปี ใน พ.ศ.๒๔๙๘ โดยเสด็จพระดำเนินเยี่ยมราษฎรภาคกลาง ภาคอีสาน ภาคเหนือ และภาคใต้ตามลำดับ

 การเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในภูมิภาคต่างๆ ทำให้ทรงรับทราบถึงปัญหาของราษฎรในแต่ละพื้นที่ จึงพระราชทานพระราชดำริ วิธีการ แนวทางแก้ไขปัญหาต่างๆ เพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือนร้อนจนเกิดเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริจำนวนมาก 


 โครงการส่วนใหญ่มักเป็นโครงการประเภทการบริหารจัดการแหล่งน้ำ ด้วยทรงให้ความสนพระราชหฤทัยเกี่ยวกับการพัฒนาแหล่งน้ำมากกว่าประเภทอื่น เห็นได้จากที่เคยมีพระราชดำรัสเมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๒๙ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐานว่า 

 “…หลักสำคัญว่าต้องมีน้ำบริโภค น้ำใช้ น้ำเพื่อการเพาะปลูก เพราะว่าชีวิตอยู่ที่นั่น ถ้ามีน้ำคนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้าคนอยู่ไม่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้…”


 เมื่อเสด็จเยี่ยมราษฎรที่จังหวัดนครนายก ซึ่งถือเป็นจังหวัดลำดับสุดท้ายของการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในภาคกลาง เมื่อวันที่ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๙๘ ทำให้ทรงรับทราบว่าจังหวัดนครนายกและพื้นที่บริเวณใกล้เคียงประสบปัญหา ๓ ประเด็นหลัก ได้แก่ ปัญหาอุกทกภัย ปัญหาภัยแล้งและปัญหาดินเปรี้ยวมาเป็นระยะเวลานาน ซึ่งเป็นผลให้ราษฎรไม่สามารถดำรงชีวิตได้อย่างอยู่ดีมีสุข 
 การทราบถึงปัญหาดังกล่าว ทำให้เกิดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเกี่ยวกับการพัฒนาแหล่งน้ำซึ่งสร้างคุณประโยชน์ให้กับประชาชนภายในจังหวัดและพื้นที่บริเวณใกล้เคียง
โดยพระราชทานพระราชดำริให้จัดตั้งโครงการอ่างเก็บน้ำ จำนวน ๗ อ่าง ดังนี้

 ๑. อ่างเก็บน้ำห้วยปรือ บ้านปากช่อง ตำบลเขาพระ อำเภอเมืองนครนายกพระราชทานพระราชดำริเมื่อ วันที่ ๕ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๒๔ สนับสนุนน้ำอุปโภค บริโภคให้แก่ราษฎรและครอบคลุมพื้นที่การเกษตร ๓,๐๐๐ ไร่

 ๒. อ่างเก็บน้ำคลองโบด ตำบลพรหมณี อำเภอเมืองนครนายก พระราชทานพระราชดำริเมื่อ วันที่ ๕ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๒๔ และ ๒๙ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๒๙ สนับสนุนน้ำอุปโภค บริโภคให้แก่ราษฎรและครอบคลุมพื้นที่การเกษตร ๑,๐๐๐ ไร่

 ๓. อ่างเก็บน้ำทรายทอง บ้านวังรี ตำบลเขาพระ อำเภอเมืองนครนายก พระราชทานพระราชดำริเมื่อ วันที่ ๕ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๒๔ สนับสนุนน้ำอุปโภค บริโภคให้แก่ราษฎรและครอบคลุมพื้นที่การเกษตร ๒,๗๐๐ ไร่

 ๔. อ่างเก็บน้ำคลองบ้านวังบอน บ้านวังบอน ตำบลนาหินลาด อำเภอปากพลี พระราชทานพระราชดำริเมื่อ วันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๗ พัฒนาแหล่งน้ำช่วยเหลือพื้นที่ราบเชิงเขา ครอบคลุมพื้นที่การเกษตร ๒,๗๐๐ ไร่

 ๕. อ่างเก็บน้ำคลองสีเสียด บ้านบุ่งเข้ ตำบลหนองแสง อำเภอปากพลี พระราชทานพระราชดำริเมื่อ วันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๗ พัฒนาแหล่งน้ำช่วยเหลือพื้นที่ราบเชิงเขา ครอบคลุมพื้นที่การเกษตร ๓,๐๐๐ ไร่

 ๖. อ่างเก็บน้ำบ้านวังม่วง บ้างวังม่วง ตำบลนาหินลาด อำเภอปากพลี พระราชทานพระราชดำริเมื่อ วันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๗ พัฒนาแหล่งน้ำช่วยเหลือพื้นที่ราบเชิงเขา ครอบคลุมพื้นที่การเกษตร ๖๕๐ ไร่

 ๗. อ่างเก็บน้ำคลองกลาง บ้านซำเมย ตำบลนาหินลาด อำเภอปากพลี พระราชทานพระราชดำริเมื่อ วันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๗ พัฒนาพื้นที่ราบเชิงเขานครนายก-ปราจีนบุรี ครอบคลุมพื้นที่การเกษตร ๓,๒๐๐ ไร่ 

 นอกจากอ่างเก็บน้ำทั้ง 7 อ่าง ยังมีพระราชดำริให้สร้างเขื่อนขุนด่านปราการชลขึ้น ซึ่งพัฒนามาจากโครงการฝ่ายท่าด่านพระราชทานพระราชดำริเมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓๖ ระยะเวลาดำเนินการ พ.ศ.๒๕๔๒ – พ.ศ.๒๕๔๗ โดยแรกเริ่มใช้ชื่อโครงการว่า เขื่อนคลองท่าด่าน





ข้อมูลอ้างอิง
บทนิทรรศการถาวร (ปรับปรุงใหม่) ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครนายก พระบรมชนกชลพัฒน์


แชร์ :